นางถวิล จำปาทอง ได้รับการสืบทอดจากน้า ชื่อ โนราแก้ว ซึ่งเป็นโนราใหญ่ เดิมนางถวิลไม่ได้มีความชอบในโนรา แต่ชอบหนังตะลุง แต่มีความสามารถในการรำได้ นางถวิลมีสุขภาพที่ไม่ดีเจ็บป่วยบ่อยครั้งและพยายามหลีกเลี่ยงการสืบทอดที่ได้รับการเลือกจากตายาย เดิมอาศัยอยู่ที่ อำเภอปากพะยูน ประกอบกับทางฝั่งมารดานับถือศาสนาอิสลามทำให้ไม่สามารถรับการสืบทอดได้ แต่เนื่องด้วยสภาพร่างกายเจ็บป่วยเรื่อยมา บิดาและญาติทางฝั่งบิดาจึงเห็นชอบให้รับครูหมอโนรา ฝึกรำเป็นโนรา ตั้งแต่อายุ 7 ปี และเมื่อมีบุตรได้ย้ายถิ่นอาศัยมายัง อำเภอลำปำ จังหวัดพัทลุงเพื่อง่ายต่อการดำเนินชีวิตในการรำโนราและเพื่อไม่ให้ขัดกับขนบวิถีของชาวมุสลิมที่ห้ามการร้องรำ

โนราถวิลได้รับการสอนโนราจากโนราหมึก ซึ่งเป็นครูต้นแบบ เมื่ออายุ 8 ปี ได้รับการผูกผ้า ครอบเทริดแบบผู้หญิง ซึ่งมีการรำออกงาน 3 วัด 3 บ้านดังเช่นโนราผู้ชาย โนราถวิลเป็นหนึ่งใน “โนรา 12 สาว  นครศรีฯ ศิษย์โนราหมึก” โนราถวิลเป็นผู้ที่มีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้ เช่น ตีกลอง ตีทับ โหม่ง มีความถนัดในการตีทับมากที่สุด นอกจากนั้นยังสามารถร้อยลูกปัดโนราเป็นชุดโนราได้รับการสอนถ่ายทอดวิชาจากโนราหมึก ตัดชุดโนรา ตัดหน้าผ้า หน้าม่านได้

ในอดีตเครื่องต่างกายมีการสวมผ้าเข้าทางขาทั้งสองข้างและนุ่งผ้าตรงช่วงกลางลำตัวทำเป็นกางเกง โนราถวิลได้ดัดแปลงเครื่องแต่งกายโดยการนำกางเกงเลมาสวมใส่และมัดด้านหน้าเพื่อความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกายสำหรับผู้หญิง

เมื่อได้ออกงานเรื่อย ๆ กับตายก หรือ “โนรายกชูบัว” ได้สร้างความชำนาญให้กับตัวโนราถวิลจึงทำให้มีผู้เล็งเห็นถึงความสามารถของท่าน นั่นคือ “โนราเติม”และได้ทำการขอตัวโนราถวิลกับโนรายกชูบัวและบิดา มารดาของโนราถวิลเพื่อมาเป็นสมาชิกของคณะฯ

โนราถวิลมีบุตรด้วยกัน 3 คน มีลูกคนกลางซึ่งเป็นลูกสาวชื่อ สายพิณ จำปาทอง อายุ 53 ปี สามารถรำโนราได้อย่างคล่องแคล่วเป็นสมาชิกในคณะโนราอีกด้วย นอกจากนั้นผู้เป็นสามี ชื่อ นายบุญช่วย จำปาทอง อายุ 81 ปี ในคณะทำหน้าที่เป็นผู้ขึ้นโรง พักโรง เบิกโรง เบิกครูและออกพราน
ปัจจุบันมีผู้สืบทอด คือ หลานชายคนเล็ก ชื่อ “นายกฤษฎา รอดภาษา” อายุ 20 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 สถาบันบัณฑิตย์พัฒนศิลป์ พัทลุง ซึ่งมีหลานชายคนโต ชื่อ “นายประกาศิษ จำปาทอง” อายุ 28 ปี สามารถบรรเลงเครื่องดนตรีในวงโนราได้ครบและสามารถสร้างสรรค์เครื่องดนตรีได้เอง

เอกลักษณ์ในแบบฉบับของโนราถวิลได้กล่าวไว้คือ การจดจำท่ารำมาประยุกต์เป็นของตนเอง ผู้ที่ประสาทวิชาการร่ายบทคือ โนราเติม ทำให้นอกจากเรื่องของการรำโนรา การบรรเลงเครื่องดนตรีแล้วยังสามารถร่ายบทกลอนต่าง ๆ ได้อย่างชำนาญ สามารถแสดงปฏิภาณไหวพริบด้นสดได้ในทันที นอกจากนั้นท่ารำและบทที่ถือว่าเป็นแบบฉบับของโนราถวิล คือ “เพลงโค” “เพลงนาฏช้า” “เพลงนาฏเร็ว” และ “เพลงจับระบำ”

ปัจจุบันโนราถวิลมีความภูมิใจในวัฒนธรรมโนรา ดังเห็นได้จากการที่ผู้คนและเด็ก ๆ ให้ความสำคัญกับการรำโนรา นางถวิลให้ความเห็นไว้ว่าโนราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกาลเวลายุคสมัย แต่หากเป็นแบบฉบับของคณะโนราถวิล สายพิณจำปาทองนั้นต้องยังคงเครื่อง 5 เอาไว้ โนราถวิลยังกล่าวว่าอยากให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการแสดงโนราเพื่อไม่ให้สูญหายไปจากสังคม ในสมัยก่อนเมื่อยังมีสุขภาพที่ดีเคยเป็นวิทยากรสอนเด็กนักเรียนรำโนราที่โรงเรียนวัดวิหารเบิก ปัจจุบันโนราสายพิณเนอกจากจะเป็นโนราแล้วยังประกอบอาชีพเป็นครู ซึ่งสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ในวิชาศิลปะ

ในสมัยก่อนรับค่าราด 5,000 กว่าบาท ปัจจุบันค่าราดในการทำประกอบพิธีราคา 80,000 บาทต่อคืน หากเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงราคา 37,000-38,000 บาทต่อคืน โรงโนราที่ใช้ในการแสดงเป็นโรงประยุกต์ แต่หากเป็นโรงโนราที่ใช้ในการประกอบพิธีต้องยังคงขนบเดิมไว้ 


ที่อยู่ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง 
เบอร์โทรศัพท์  086-9631487