วัดท่าคุระมีประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีตายายย่าน วัดท่าคุระ หรือวัดอ่างทอง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ประเพณีตายายย่าน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า ประเพณีทำบุญเดือนหก หรือประเพณีสมโภชเจ้าแม่อยู่หัววัดท่าคุระ เป็นประเพณีส่วนชุมชนที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี สถานที่จัดประเพณีตายายย่านจัดขึ้น ณ วัดท่าคุระ หมู่ที่ 9 บ้านท่าคุระ ตำบลคลองรี อำเภอทิงพระ จังหวัดสงขลา ในวันพุธ แรม 1 ค่ำ เดือน 6 (วันแรม 1 ค่ำ ตรงกับวันพุธ หากปีใดวันแรม 1 ค่ำ ไม่ตรงกับวันพุธให้เลื่อนออกไป เป็นวันพุธแรกที่เป็นข้างแรมของเดือน 6) ลูกหลานของชาวบ้านท่าคุระที่อาศัยอยู่ในบ้านท่าคุระ ตลอดจนผู้ที่ไปอาศัยอยู่ที่อื่น จะกลับมาร่วมประเพณีตายายย่านกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งมีจำนวนผู้มาร่วมพิธีเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อมาร่วมพิธีสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว แสดงความเคารพนบนอบ หรือการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดท่าคุระ อำเภอสทิง-พระ จังหวัดสงขลา

ประเพณีตายายย่าน เกิดจากความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่อยู่หัว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร สูงประมาณ 2.5 เซนติเมตร ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดท่าคุระ หมู่ที่ 9 ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้น ประมาณ พ.ศ. 1900 โดยสร้างขึ้นจากความเคารพศรัทธาในตัวบุคคล จึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นแทนผู้ที่เคารพศรัทธา ซึ่งมีความสอดคล้องกับประวัติของเจ้าแม่อยู่หัว ประเพณีตายายย่าน จัดขึ้นตรงกับวันทำพิธีสมโภชตามประเพณีที่ปฏิบัติต่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินในอดีต ประชาชนในพื้นที่ที่มีพิธีกรรมนั้นก็ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจะเห็นได้จากข้อมูลเกี่ยวกับประวัติเจ้าแม่อยู่หัวตามตำนาน ดังนี้

          ตำนานที่ 1 ตายายพราหมณ์จันทร์ จัดพิธีส่งเสด็จพระมเหสี และพระโอรสที่จะได้กลับเมืองหลวง โดยกำหนดจัดขึ้นในวันพุธแรกของข้างแรมเดือน ๖ ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ประสาทพร สรงน้ำพระพุทธมนต์แก่พระมเหสี และจัดให้มีการแสดงโนราถวาย พระมเหสีทรงมอบพระพุทธรูปทองคำแก่ ตายายพราหมณ์จันทร์ไว้เป็นอนุสรณ์ และพระนางจะเสด็จกลับไปที่บ้านตายายพราหมณ์จันทร์ในวันพุธแรกของเดือนหกข้างแรมทุกปี ตายายพราหมณ์จันทร์ก็ชักชวนชาวบ้านกระทำพิธีระลึกถึงเป็นประจำจนกลายเป็นประเพณีสืบมา

          ตำนานที่ 2 พิธีรับขวัญพระหน่อ ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดินสมัยนั้นที่จมน้ำสูญหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ ตาพรหมชาวบ้านพราหมณ์จันทร์ไปพบและช่วยชีวิตไว้ พระเจ้าอยู่หัวให้ทหารออกตามหา เมื่อพบพระหน่อ พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีก็มารับพระหน่อกลับเมืองหลวง ก่อนพากลับเมืองได้ทำพิธีสมโภชกำหนดเป็นวันพุธ แรม 1 ค่ำ เดือน 6 เมื่อถึงวันอันเป็นมงคล วันพุธ แรม 1 ค่ำ เดือน 6 ได้นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วมีการแสดงโนราเป็นการแสดงพื้นบ้านและการละเล่นต่างๆ อย่างมโหฬาร พร้อมทั้งได้ทำขนมพอง ขนมลา ขนมต้มแดง ขนมโค (เป็นขนมของภาคใต้โดยเฉพาะมีลักษณะคล้ายขนมต้มขาวของภาคกลาง) อาหารคาวหวาน มาร่วมสมโภชตามประเพณี ในวันพฤหัสบดีโดยจัดเครื่องหมาก 1 สำรับ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องบายศรี ซึ่งเป็นการเริ่มต้นแห่งพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ตามขัตติยประเพณี และพระราชินีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเจ้าแม่อยู่หัวได้มอบแผ่นทองคำ และสลักรูปพระหน่อลงในแผ่นทองมอบให้ตาพรหมยายจันเพื่อระลึกถึงพระหน่อ สองตายายร้องขอให้พระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี และพระหน่อได้สร้างวัดบริเวณริมทะเลสาบใกล้หมู่บ้านพราหมณ์จันทร์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วให้ชื่อว่า "วัดท่าทอง” (ท่าหมายถึงท่าเรือ) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวัดท่าคุระ และนำแผ่นทองคำสลักรูปของ พระหน่อมาหล่อเป็นพระพุทธรูปจำลองแทนพระหน่อ

ถวายพระพุทธรูปจำลองไว้กับวัดท่าทองหรือวัดท่าคุระในปัจจุบัน ประชาชนรู้จักพระพุทธรูปในนาม "เจ้าแม่อยู่หัว” ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการจัดงานสมโภชและสรงน้ำพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัวในวันพุธ แรม 1 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี ซึ่งตรงกับวันที่ได้กำหนดจัดพิธีสมโภชรับขวัญพระหน่อเมื่อในอดีต ชาวบ้านได้จัดพิธีขึ้นทุกปี เพื่อแสดงความเคารพ หรือแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อองค์เจ้าแม่อยู่หัว ซึ่งมีประชาชนมาร่วมในพิธีสมโภชและสรงน้ำพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัวจากทั่วสารทิศ โดยเฉพาะลูกหลานของผู้ที่นับถือเจ้าแม่อยู่หัว ก็จะมาร่วมงานกันเป็นประจำทุกปี จนเรียกขานกันว่า "งานตายายย่าน” มาจนทุกวันนี้
          คำว่า "ตา” ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง พ่อของแม่ ผัวของยาย ชายที่เป็นญาติชั้นเดียวกับพ่อของแม่หรือที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับตา
          คำว่า "ยาย” ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง แม่ของแม่ เมียของตา หญิงที่เป็นญาติชั้นเดียวกับแม่ของแม่หรือที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับยาย ดังนั้น "ตายาย” จึงหมายถึง พ่อของแม่และแม่ของแม่โดยทั่วไปชาวใต้หมายถึงบรรพบุรุษ 
          คำว่า "ย่าน” ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน หมายถึง ระยะทางความกว้างหรือยาวของตำบลหนึ่งไปยังอีกตำบลหนึ่ง แต่เมื่อตรวจสอบความหมายของคำว่าย่าน จากสารานุกรมภาคใต้ พบความหมายที่น่าจะสัมพันธ์กับประเพณี ตายายย่าน คือ "ย่าน” หมายถึง เทือกเถาเหล่ากอ แม้เถาวัลย์ชาวใต้ยังเรียกว่า "ย่าน” เช่น ย่านถั่ว ย่านบวบ ฯลฯ

ดังนั้น ความหมายของคำว่า "ตายายย่าน” น่าจะหมายถึง ลูกหลานที่มีเทือกเถาหรือบรรพบุรุษเดียวกัน สาเหตุที่เรียกประเพณีท้องถิ่นของชาวบ้านท่าคุระ ที่จัดขึ้น ณ วัดท่าคุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ว่าประเพณี "ตายายย่าน” เพราะประเพณีตายายย่าน เป็นการรวบรวมลูกหลาน เหลน โหลน ของชาวบ้านท่า คุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ทุกคนจากอดีตถึงปัจจุบันที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน
ประเพณีตายายย่าน ของชาวบ้านท่าคุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่มีมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน มีจุดประสงค์ในการจัดประเพณีตายายย่าน ของชาวบ้านท่าคุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ได้ดังนี้
          1. ประเพณีตายายย่าน ของชาวบ้านท่าคุรุ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จัดขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ "เจ้าแม่อยู่หัว” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย ชาวบ้านที่มาร่วมงานประเพณี ตายายย่าน ของชาวบ้านท่าคุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ส่วนใหญ่เชื่อว่า เจ้าแม่อยู่หัวให้คุณให้โทษแก่ตนนานัปการ ปีใดถ้าลูกหลานคนใดทำเฉยเมยไม่มาร่วมงาน เจ้าแม่อยู่หัวก็จะไปตักเตือน เช่นทำให้ปวดหัว ปวดท้อง จนสำนึกได้ว่าต้องมาร่วมงานประเพณีตายายย่าน ในวันอันใกล้ แล้วอาการดังกล่าวก็จะหายไป
          2. เพื่อให้บรรดาลูกหลานของชาวบ้านท่าคุระที่ไปตั้งรกรากอยู่ที่อื่นได้กลับมาชุมนุมพร้อมกัน ซึ่งเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่าเป็นการ "ชุมชาติ” หรือ "ชุมญาติ” และร่วมทำบุญอุทิศกุศลแก่บรรพบุรุษของตนเอง ลูกหลานของชาวบ้านท่าคุระ ที่ออกไปอยู่ที่อื่นเมื่อถึงงานประเพณีตายายย่าน ก็จะกลับมาที่บ้านท่าคุระ บางคนก็มาก่อนวันงาน มาพักอยู่กับญาติพี่น้อง และรออยู่ร่วมงานจนเสร็จสิ้น บางคนก็มาในวันงาน เพราะปัจจุบันการเดินทางสะดวก และส่วนใหญ่ลูกหลานของชาวบ้านท่าคุระแม้ว่าวันสงกรานต์ หรือวันสารท จะไม่ได้กลับมาบ้านที่ท่าคุระด้วยเหตุผลต่างๆ แต่เมื่อถึงวันงานประเพณีตายายย่าน ของชาวบ้าน ท่าคุระ ลูกหลานก็จะต้องกลับมาเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษของตน และทำให้ได้พบปะญาติพี่น้องที่อยู่บ้านท่าคุระ และที่แยกย้ายไปอยู่ที่อื่น
          3. เพื่อจรรโลงศาสนา และวัฒนธรรมพื้นบ้านของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการรำโนราโรงครู การสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว การสมโภชเจ้าแม่อยู่หัว ชาวบ้านที่บนบานเจ้าแม่อยู่หัวให้ช่วยเหลือก็จะมาแก้บนตามที่ได้บนไว้ ส่วนคนที่ไม่ได้มาแก้บน แต่มีความศรัทธาในองค์เจ้าแม่อยู่หัวก็จะมารำโนราเพื่อถวายเจ้าแม่อยู่หัว ซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว ซึ่งการรำโนรานั้นก็จะมีการรำทรงเครื่อง รำออกพราน รำทาสี และร่วมในพิธีสรงน้ำ และพิธีสมโภชเจ้าแม่อยู่หัว หรือบางคนก็นำขนมพอง ขนมลา ขนมโค และอาหารคาว อาหารหวาน มาร่วมถวายพระ นอกจากนั้นในคืนวันพุธ คณะโนราก็จะแสดงให้ชมเพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่น
          4. เพื่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน การที่ชาวบ้านได้มาร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นส่วนรวม ทำให้เกิดความสัมพันธ์ การช่วยเหลือ การแบ่งปัน และความรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่และตามที่ได้รับมอบหมาย การจัดเตรียมอุปกรณ์และการเตรียมขั้นตอนต่างๆ ภายในวัด การเตรียมการของชาวบ้าน การที่ชาวบ้านได้มาร่วมในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว พิธีสมโภชเจ้าแม่อยู่หัว การแก้บน การต้อนรับญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านและแขกผู้มาร่วมงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมสร้างให้เกิดความรัก ความสามัคคีขึ้นในชุมชน และหมู่คณะทั้งสิ้น

มีตำนานการกล่าวถึงพระพุทธรูปแม่เจ้าอยู่หัวว่า เป็นผู้พลัดพรากจากพระราชโอรส ต่อมาตายายคู่หนึ่งได้เลี้ยงดูไว้ ก่อนพาโอรสกลับพระนครนางได้สร้างพระพุทธรูปทองคำองค์เล็กให้ตายายไว้เป็นตัวแทนเขา ตำนานพระนางเลือดขาวได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับตำนานโนราว่า พระนางเลือดขาวนั้นเป็นบุคคลเดียวกับพระนางนวลทองสำลี มารดาของพระเทพสิงหรหรือขุนศรีศรัทธานั่นเอง

 


แผนที่แสดงตำแหน่งวัดท่าคุระ(สีน้ำเงิน) วัดพะโคะและเกาะใหญ่อำเภอกระแสสินธุ์

google map : วัดท่าคุระหรือวัดท่าทอง