นายวิชา ศุกศรีสอาด หรือโนราแซม เดชา สองพี่น้องคนองศิลป์ หรือโนราแซม เสียงทอง ดาวรุ่ง อายุ 61 ปี ปัจจุบันนายวิชาหรือโนราแซมประกอบอาชีพเป็นโนราใหญ่และเป็นหมอชาวบ้านรักษาผู้คน ตระกูลของโนราแซมเดิมเป็นตระกูลขุนทา ซึ่งถูกก่อตั้งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 6 ซึ่งตระกูลขุนทา ประกอบด้วย 4 เสาหลักแห่งตระกูล ตระกูลของโนราแซมเป็นหนึ่งใน 4 ตระกูล นั่นคือ ขุนทานาเขือ

โนราแซมได้เรียนโนราจากผู้เป็นตา เมื่อตอนอายุ 13 ปี เดิมนั้นโนราแซมไม่ได้สนใจในการรำโนราแต่อย่างใด แต่โดนครูหมอเป็นผู้เลือกให้เป็นโนราใหญ่ จึงจำเป็นที่ต้องรำโนราเมือ่อายุครบ 14 ปี ไดทำพิธีตัดจุก ที่วัดท่าแค และมีอาจารย์ผู้เป็นอุปปัชชา คือ โนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง และมีอาจารย์ท่านอื่นๆ ร่วมในพิธีที่สำคัญ เช่น อาจารย์น้อม คงเกลี้ยงหรือโนราน้อม โบราณศิลป์ อาจารย์ไข่นุ้ย หรือโนราไข่นุ้ย อาจารย์แดง หรือโนราแดง ศ. พ่วงพันธุ์ อาจารย์แปลก ชนะบาล หรือโนราแปลก ท่าแค โดยมีอาจารย์น้อม คงเกลี้ยงหรือโนราน้อม โบราณศิลป์และโนราสมพงษ์น้อย ดาวรุ่งเป็นผู้สอนให้ดำเนินชีวิตในทางที่ดี เป็นหมอพื้นบ้านรักษาผู้คนตอนอายุ 21-22 ปี

โนราแซมกล่าวว่าสิ่งที่ทำให้ตนเองเป็นผู้ที่ได้รับการนับถือจากชาวบ้านและสามารถรักษาผู้คนให้พ้นทุกข์ได้นั้นเป็นเพราะการรักษาศี 5 และการรักษาสัจจะวาจา ทำให้สามารถครองใจคนได้มาจนถึงทุกวันนี้ เอกลักษณ์ของโนราแซม คือ เป็นโนราที่ยังคงขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ

โนราแซมให้ข้อคิดถึงโนราในยุคปัจจุบันว่า การเป็นโนราอย่าเป็นแค่ชื่อ อย่าทำแบบสุกเอาเผากิน ได้ชื่อว่า เป็นโนราแล้วต้องหยั่งรากลึก ปลูกจิตวิญญาณเพื่อจรรโลงใจ โดยไม่ต้องหวังสิ่งตอบแทนให้มากนัก อย่าผันแปรตามธุรกิจ ผู้ที่การประกอบงานการรำโนราต้องเป็นผู้รู้จริง รู้ข้อห้ามต่าง ๆ คาถาต่าง ๆ อุปกรณ์ต้องพร้อมคนพร้อม      รู้เรื่องเข้าใจในขนบธรรมเนียมประพณีเป็นอย่างดี เช่น การตัดเศียรพรหม ใช้สำหรับการแก้เหมรยที่เจ้าภาพหรือผู้ว่าจ้าได้ลืมสัจจะคำมั่นสัญญาไว้แล้ว ซึ่งในปัจจุบันในจังหวัดพัทลุงมีเพียงแค่โนราแซมท่านเดียวที่สามารถประกอบพิธีกรรมนี้ได้ การคล้องแม่นวลทองสำลี  เป็นต้น โนราแซมเป็นผู้เน้นการรำโนราสำหรับการประกอบพิธีกรรม
นอกจากนี้ท่านยังอธิบายลักษณะของโนราในแต่ละที่ไว้ดังต่อไปนี้
-    จังหวัดพัทลุง โนราเป็นลักษณะของโนราวัง ซึ่งได้ถือกำเนิดที่เวียงกลางบางแก้ว ซึ่งเป็นต้นฉบับ
-    จังหวัดตรัง โนราเป็นลักษณะโนราลูกขุน ซึ่งได้แยกสายมาจากพัทลุง
-    จังหวัดสงขลา โนราเป็นลักษณะของโนราตายาย ไม่เน้นการรำแต่หากเน้นการประกอบพิธีกรรม

ปัจจุบันโนราแซมยังไม่มีผู้สืบทอดโดยสายเลือดและศิษย์เองก็ยังไม่พบว่าผู้ใดจะเป็นผู้สืบทอดเจตนารมย์

โนราแซมฝากข้อคิดไว้ว่าการพัฒนานั้นในปัจจุบันโลกาภิวัฒน์โลกก้าวไปข้างหน้าแต่ต้องไม่ลืมรากเหง้าที่แท้จริงไม่ลืมแก่นสาร อย่าเอาแต่กะพี้ ซึ่งจะทำให้ความขลังและคุณค่าลดลง

จุดเด่นของโนราแซมอีกประการคือนอกจากการรำโนราแล้ว ยังเป็นผู้เขียนบทละครที่ใช้ในการแสดงโนรามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้เขียนบท “กำเนิดโนรา” ที่นิยมใช้เล่นกันในจังหวัดพัทลุง

ค่าราด

**โนราประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู ราคา 90,000 ต่องาน โดยมักจะเข้าหรือแสดงวันพุธและออกวันศุกร์
**โนราประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู ราคา 100,000 ต่องาน โดยมักจะเข้าหรือแสดงวันพุธและออกวันเสาร์
**โนราประกอบพิธีกรรมการตั้งหิ้ง ราคา 20,000 ต่องาน
**งานหมอรักษาผู้คน แล้วแต่ผู้ที่มาทำการรักษาจะให้เป็นค่าครู โดยจะต้องจ่ายที่ 132 บาท
** โนราเพื่อความบันเทิง ราคา 35,000 ต่อคืน ซึ่งโนราแซมไม่ค่อยรับงานเพื่อความบันเทิง

โนราแซมไม่ได้เป็นผู้ผลิตภัณฑ์โนราใดๆ เพียงแต่หากเป็นหน้าพรานจะทำขึ้นเพื่อเป็นงานอดิเรกเท่านั้นทั้งนี้เพราะไม่ค่อยมีเวลาในการผลิต งานเกือบทั้งหมดจะเป็นงานประกอบพิธีกรรมจึงทำให้ไม่มีเวลามากพอในการผลิตผลิตภัณฑ์โนราต่าง ๆ


ที่อยู่ 170 ม.5 ต.ควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
เบอร์โทร 081-0797268